วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2554

อสุรผัด

เป็นบุตรของหนุมาน กับนางเบญกาย มีหน้าเป็นลิง แต่มีหัวและตัวเป็นยักษ์ มีสีเหลืองเลื่อม เป็นหลานของพิเภก เมื่อพิเภกซี่งเป็นตา ถูกท้าวจักรวรรดิ กับไพนาสุริยวงศ์จับไปขังไว้ อสุรผัดจึงหนีมาหาหนุมาน เล่าเรื่องราวให้ฟัง พระราม จึงโปรดให้พระพรต กับพระสัตรุต ยกกองทัพไปปราบ ซึ่งเป็นการทำศึกกับกรุงลงกาครั้งที่สอง เมื่อเสร็จศึกแล้ว พระรามได้แต่งตั้งให้อสุรผัดมีตำแหน่ง เป็นพระยามารนุราชมหาอุปราชแห่งกรุงลงกา

มัจฉานุ

 เป็นลูกของหนุมานกับนางสุพรรณมัจฉาซึ่งเนื่องจากเป็นลูกของ หนุมานจึงได้มีร่างกายเป็นลิง แต่มีหางเป็นปลาเช่นเดียวกับ นางสุพรรณมัจฉา แต่เมื่อนางสุพรรณมัจฉา ได้คลอด มัจฉานุด้วยการสำรอกออกมาแล้ว เกรงว่าทศกัณฑ์จะรู้ว่าเป็นลูกตน จึงได้นำ มัจฉานุไปทิ้งไว้ที่หาดริมทะเล หลังจากนั้น ไมยราพณ์ ซึ้งเป็นเจ้าเมืองบาดาลได้เดินทางมาพบและเก็บไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม ซึ่งภายหลัง หนุมานที่ได้ตามติด ไมยราพณ์ซึ่งลักพาตัวพระรามมาไว้ที่เมืองบาดาล จึงได้พบกับมัจฉานุซึ่งทำหน้าที่เฝ้าด่านสระบัวอยู่ทั้ง 2 จึงได้ต่อสู้กัน แต่ต่างฝ่ายต่างก็ไม่สามารถเอาชนะกันได้เสียที จึงได้ถามมัจฉานุว่าเป็นลูกใครพ่อแม่ชื่ออะไร เมื่อได้ยินคำตอบของมัจฉานุหนุมานก็ดีใจมากเมื่อได้พบลูกของตน เมื่อเสร็จศึกกรุงลงกาครั้งที่ 2 และศึกกรุงมลิวัน จึงได้รับแต่งตั้งเป็น พญาหนุราช ครองกรุงมลิวัน

พระพรต

เป็นตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ มีกายสีแดง (คือจักรแก้วของพระนารายณ์ที่อวตารลงมาพร้อมกับพระราม) เป็นโอรสของ ท้าวทศรถ กับนาง ไกยเกษี แม่ของตนเป็นต้นเหตุที่ทำให้พระรามต้องออกเดินดง ๑๔ ปี กล่าวคือ ครั้งหนึ่งท้าวทศรถรบกับยักษ์ปทูตทันต์ ท้าวทศรถทรงนั่งรถศึกโดยมีนางไกยเกษีร่วมรบด้วย ท้าวทศรถพลาดรถทรงถูกศรของยักษ์เพลาล้อหลุด นางเห็นจึงนำแขนของตนใส่ไปแทนเพลาล้อ จนท้าวทศรถมีชัยชนะแก่ข้าศึก ท้าวทศรถดีใจมากประทานพรว่าจะให้สิ่งที่ต้องการทุกประการหากนางต้องการ เมื่อวันเวลาผ่านไปนางนึกได้จึงทูลขอกรุงศรีอยุธยาให้แก่พระพรตโอรสของตน และให้พระรามออกไปเดินดงเป็นเวลา ๑๔ ปี ท้าวทศรถได้ฟังเช่นนั้นจึงให้พรตามที่นางขอและตรอมใจตายในที่สุด ภายหลังเป็นจอมทัพไปรบยังกรุงลงกาครั้งที่ ๒ และศึกกรุงไกยเกษ พระรามจึงแต่งตั้งให้เป็นกษัตริย์ครองกรุงไกยเกษสืบไป

นางเบญกาย

เป็นธิดาของพิเภกและนางตรีชฎา ในคราวที่ทศกัณฐ์ทราบว่าพระรามยกทัพข้ามมาถึงกรุงลงกาแล้ว ก็สั่งให้นางเบญกายแปลงกายเป็นนางสีดาแกล้งทำเป็นตายลอยน้ำไปที่ค่ายพระราม เพื่อให้พระรามหมดกำลังใจรบ จะได้ยกทัพกลับไป
นางเบญกายทำตามบัญชาของทศกัณฐ์ เมื่อพระรามเห็นศพนางสีดาลอยน้ำมาก็เสียใจมากที่ต้องมาสูญเสียนางอันเป็นที่รักไป พาลต่อว่าหนุมานที่หนุมานเข้าไปเผากรุงลงกาในคราวนั้น ทศกัณฐ์คงเจ็บใจและสังหารนางสีดา แต่หนุมานก็รู้สึกถึงความผิดปกติ เพราะตามปกติ ศพที่ลอยน้ำจะต้องเป็นศพที่เน่าเปื่อย และอีกประการ ศพนางสีดานี้ลอยทวนน้ำขึ้นมา ผิดวิสัยของศพที่จะต้องลอยตามกระแสน้ำ จึงทูลขอศพนางสีดานั้นไปเผาไฟ ทำให้นางเบญกายทนไม่ได้ จึงกลับคืนร่างเดิมและเหาะขึ้นฟ้าไป แต่หนุมานก็เหาะตามไปจับตัวมาได้
โทษของนางเบญกายนั้นถึงประหารชีวิต แต่เนื่องจากพระรามเห็นว่านางเบญกายเป็นบุตรสาวของพิเภกผู้มีความยุติธรรม จึงได้ปล่อยนางเบญกายไป โดยให้หนุมานไปส่งนางเบญกายที่กรุงลงกา แต่ระหว่างทาง หนุมานซึ่งมีจิตปฏิพัทธ์นางเบญกายแต่แรกที่พบกัน ได้เกี้ยวพาราสีจนได้นางเบญกายเป็นภรรยา
ในคราวที่หนุมานมาปราบท้าวมหาบาลซึ่งบุกมาที่กรุงลงกา หนุมานได้เข้าไปพำนักกับนางเบญกายด้วย ทำให้ในเวลาต่อมา นางเบญกายได้ให้กำเนิดบุตรชายนามว่า อสุรผัด มีหน้าเป็นวานร และมีกายเป็นยักษ์

นางสุพรรณมัจฉา

เป็นธิดาของทศกัณฐ์กับนางปลา เป็นพี่น้องร่วมบิดากับนางสีดา ถึงแม้นางจะเป็นถึงธิดาของเจ้าผู้ครองกรุงลงกา แต่เจ้าหญิงองค์นี้ ก็ไม่มีโอกาสจะอยู่ในเวียงวังดังผู้อื่น เพราะนางอยู่ได้เฉพาะแต่ในน้ำ ดังนั้นที่อยู่ของนางจึงอยู่กลางทะเลใหญ่
หลังจากแผน "นางลอย" ของทศกัณฐ์ล้มเหลว กองทัพวานรของพระรามก็ได้เคลื่อนพลตรงมาอย่างรวดเร็วจนถึงฝั่งทะเล และถมหินเป็นเส้นทางใหญ่ ตัดผ่านห้วยน้ำมุ่งหน้าข้ามสู่ฝั่งลงกาอย่างขมีขมัน ข่าวจากแนวหน้าชิ้นนี้ทำให้ทศกัณฐ์เริ่มวิตกคิดหาทางสกัดกองกำลังของพระรามไม่ให้เข้าประชิดกรุงลงกาได้วิธีหนึ่ง...นั้นก็คือ หวังยืมมือของนางสุพรรณมัจฉาผู้เป็นธิดาให้ออกคำสั่งใช้เหล่าปลาทั้งหลายในทะเลอันเป็นบริวารของนางทำลายการจองถนนของบรรดาวานรเสีย
เมื่อตกลงใจได้มั่นเหมาะแล้ว ทศกัณฐ์ก็เรียกนางสุพรรณมัจฉาเข้าเฝ้า มอบหมายหน้าที่นี้ให้แก่ธิดาครึ่งปลาทันที นางสุพรรณมัจฉาพอได้รับคำสั่งของบิดา นางก็เร่งปฏิบัติตาม พาเหล่าบริวารปลาใหญ่เล็กทั้งหลายแหล่ของนาง ไปยังบริเวณที่พลพรรควานรขนหินถมลงในน้ำจนเริ่มปรากฏเป็นเส้นทางแล้ว สั่งให้บรรดาปลาในน้ำลอบคาบก้อนหินไปทิ้งยังอ่าวลึก สุครีพผู้ควบคุมพลวานรจองถนนยิ่งดูก็ยิ่งสงสัย เพราะเห็นหินที่ถมลงไปมากมายก่ายกอง ลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ อย่างไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ จึงปรึกษากับหนุมาน หนุมานเห็นจริงตามคำน้าชายว่า ก็อาสาจะลงไปดูลาดเลาในน้ำเอง จึงได้พบสาเหตุที่ทำให้ถนนทรุดลงเรื่อย ๆ ด้วยความโกรธ หนุมานชักตรีออกมาไล่ฆ่าฟันพวกปลาเสียมาก ต่อมานางสุพรรณมัจฉาเห็นเข้า ก็ว่ายหนีเข้าไปปะปนกับฝูงปลาอื่น ๆ เพราะความกลัว แต่ก็ยังไม่อาจหนีพ้น ถูกหนุมานตามทัน จับตัวไว้ได้ หนุมานที่กำลังโมโหพอจับตัวการใหญ่ได้ก็ตวาดถามด้วยโทสะ ทำให้นางนางสุพรรณมัจฉาที่กลัวลานอยู่แล้วยิ่งสั่นหนักเข้าไปใหญ่ นางได้สารภาพทุกอย่างตามจริงไม่มีปิดบัง ทั้งสัญญาจะขนหินมาคืนให้ เพียงวิงวอนหนุมานให้ไว้ชีวิตนางเท่านั้น หนุมานที่หูได้ยินเสียงวิงวอนหวาน ๆ ตาได้เห็นรูปโฉมสวย ๆ อารมณ์บูดจึงหายไปกว่าครึ่งแล้ว สิ่งเกิดขึ้นแทนที่คือ... ความเจ้าชู้ วานรทหารเอกของพระราม เลยแสดงบทบาทเกี้ยวพาราสีสาวสวยลูกครึ่ง (ครึ่งยักษ์ครึ่งปลา) อย่างไว้ฝีมือ จนนางสุพรรณมัจฉามีความหลงใหลหนุมานยิ่งนัก... นับว่า ‘ความรัก ไม่มีพรมแดน’ ได้จริง ๆ แล้วหนุมานก็เกลี้ยกล่อมให้นางสุพรรณมัจฉาเรียกบริวารปลาของนางไปขนหินกลับคืนมาช่วยกันทั้งบนบกและในน้ำ จนกระทั่งถนนสายสู่ลงกาสำเร็จด้วยดี จึงลาจากนาง กลับกองทัพไป รายงานผล หลังจากนุมานผละจากไปแล้ว นางสุพรรณมัจฉาก็เริ่มได้คิด นางไม่เพียงไม่อาจทำตามคำสั่งพระบิดาทำลายถนนทิ้งเท่านั้น ซ้ำร้ายยังมีส่วนช่วยสร้างถนนสายนี้ด้วย โทษแค่นี้ก็ถึงประหารแล้ว อย่าว่าแต่นางยังไปมีสัมพันธ์สวาทกับหนุมานทหารเอกของฝ่ายข้าศึก จนกำลังมีครรภ์เข้าอีก ยิ่งเป็นเหตุให้นางไม่กล้ากลับไปพบหน้าพระยายักษ์ทศกัณฐ์ ด้วยเหตุผลที่มีอันตรายรายล้อมรอบด้านนางสุพรรณมัจฉาจึงได้ตัดสินใจจะหาสถานที่เร้นลับซักแห่ง แอบสำรอกบุตรในท้องของนางไว้ นางหาได้เนินทรายชายหาดที่สงบเงียบแห่งหนึ่ง จึงอธิษฐานต่อบรรดาเทพยดานางฟ้าให้ช่วยนางและบุตรด้วย เทวดานางฟ้าจึงได้พากันมาแสดงตนให้นางได้เห็นตามคำอธิษฐาน และอำนวยพรให้ พอถึงฤกษ์ดี นางก็สำรอกบุตรออกมาได้อย่างง่ายดาย บุตรของนางสุพรรณมัจฉาเป็นชายผิวขาวผ่องกายเหมือนหนุมานไม่ผิดเพี้ยนแม้แต่น้อย แถมมีหางเป็นปลา และพอเกิดก็ดูเติบใหญ่ราวอายุได้ 16 ปี (น่าจะนับว่าเป็นโชคดี ที่โอรสของนางดูเป็นแค่ครึ่งปลาครึ่งลิงเท่านั้น หากมีลักษณะครึ่งยักษ์ของทศกัณฐ์ผู้เป็นตาปนเข้าไปด้วย คงยิ่งดูนุงนัง กลายเป็นสัตว์ประหลาดที่หาคำบรรยายไม่ค่อยถูกเลยที่เดียว) เหล่าเทวดานางฟ้าที่มาช่วยจึงตั้งชื่อให้ว่ามัจฉานุ แล้วพากันกลับวิมานไป นางสุพรรณมัจฉายิ่งชื่นชมบุตรของนางได้เพียงครู่เท่านั้น ก็ต้องจากไปเช่นกัน นางจึงบอกเล่าชาติกำเนิดแก่มัจฉานุว่า บิดาของมัจฉานุ ชื่อ หนุมาน เป็นทหารของพระราม จุดสังเกตคือ หนุมานมีมาลัยกุณฑล ขนแก้ว เขี้ยวเพชร เหาะเหินได้ และสามารถหาวเป็นดาวเป็นเดือน แล้วนางสุพรรณมัจฉาก็ลาจากลูกชายแหวกว่ายไปในทะเลใหญ่ เพื่อหาทางหลบซ่อนจากพระอาญาของทศกัณฐ์พระบิดาของนางเอง ทิ้งมัจฉานุไว้ตามลำพังบนเนินทรายนั้น บังเอิญไมยราพเจ้าเมืองบาดาลประพาสป่าผ่านมาพบเข้า รู้สึกถูกชะตายิ่ง จึงรับมัจฉานุไว้เป็นบุตรบุญธรรม ขุดสระใหญ่ให้เป็นด่านหน้าเมืองบาดาล
ส่วนทศกัณฐ์ที่เสียท่าในการศึกหลายหนได้ของความช่วยเหลือจากไมยราพที่เป็นพันธมิตรของลงกา ไมยราพเห็นแก่ความเป็นมิตร รับอาสาช่วยเหลือทศกัณฐ์ ด้วยการสะกดทัพวานรลักตัวพระรามไปกักไว้ในบาดาล พิเภกและพระลักษณ์ที่กำลังเศร้าโศกต่อการหายสาบสูญไปของพระเชษฐาว่าให้ส่งหนุมานตามไปช่วย หนุมานจึงติดตามมาถึงด่านหน้าเมืองบาดาลที่มัจฉานุอาศัยอยู่ สองพ่อลูกจึงเกิดสู้รบกันขึ้น แต่ต่างไม่สามารถเอาชนะกันและกันได้ ทำให้หนุมานสงสัยยิ่ง จึงสอบถามถึงเผ่าพงศ์ของมัจฉานุ ซึ่งมัจฉานุเองก็อดแคลงใจไม่ได้เหมือนกัน ที่คู่ต่อสู้ทำไมจึงมีหน้าตารูปกายคล้ายกับตนนัก จึงตอบตามสัตย์ว่า เป็นบุตรของพระนางสุพรรณมัจฉากับหนุมาน หนุมานรู้ก็ยินดียิ่ง แนะนำตัวเองต่อมัจฉานุว่าเป็นบิดา แต่มัจฉานุต้องการข้อยืนยัน หนุมานจึงเหาะขึ้นไปบนอากาศ และหาวเป็นดาวเป็นเดือนให้ดู มัจฉานุค่อยเชื่อว่าคือบิดา พอสองพ่อลูกได้รู้จักกันแล้ว สภาพการเป็นศัตรูก็เสื่อมสลายไป มัจฉานุยอมให้หนุมานผ่านด่านของตนลงสู่บาดาลไปช่วยเหลือพระรามโดยสะดวก เมื่อฝ่ายวานรช่วยเหลือพระรามออกไปจากบาดาลได้ และไมยราพพลาดท่าตายในที่รบและหนุมานก็มอบเมืองบาดาลให้ไวยวิก พระญาติผู้หนึ่งของไมยราพครอบครองต่อไป โดยมีมัจฉานุเป็นพระมหาอุปราช ก่อนจะกลับกองทัพวานรไปทำศึกสงครามต่อ ไวยวิกกับมัจฉานุที่ครอบครองเมืองบาดาลอย่างเป็นสุขมาตลอด วันหนึ่งเกิดอยากเข้าเฝ้าพระราม จึงจัดทัพเดินทางไปกรุงอยุธยา บังเอิญพบกับทัพท้าวชมพูเข้าที่หน้าเมืองอยุธยา สองทัพเกิดเข้าใจผิด จึงสู้รบกันเองซะอุตลุดวุ่นวาย พระรามได้ยินเสียงสู้รบกันดังสนั่น จึงให้หนุมานออกไปดู หนุมานเห็นเป็นพวกกันเองทั้งสองฝ่าย ก็เลยรีบเข้าห้าม และพาทั้งหมดเข้าเฝ้าพระราม พระรามเห็นว่าหางปลาของมัจฉานุดูเกะกะร่ารำราญ หนุมานก็เลยฉวยโอกาสนี้ทูลของพระรามช่วยตัดหางมัจฉานุออก พระรามไม่ขัด ทรงใช้พระขรรค์โมลีตัดหางปลาออกไปจากกายมัจฉานุด้วยความฉับไวแม่นยำทำให้มัจฉานุไม่รู้สึกเจ็บปวดแต่อย่างไร ยังความยินดีแก่มัจฉานุยิ่งที่ไม่ต้องมีสภาพครึ่งปลาอีกต่อไป แต่โชคดีของมัจฉานุยังไม่หมดแค่นั้น พระรามยังทรงโปรดแต่งตั้งให้เป็นพระยาหนุราชไปครองเมืองมลิวัน มัจฉานุบุตรของนางสุพรรณมัจฉาเองนั้น ยังคงเวียนว่ายท่องเที่ยวไปในทะเลกว้างตามความเคยชิน นี่คือ ชีวิตรูปแบบหนึ่งของนางในวรรณคดีผู้มีเชื้อสายครึ่งยักษ์ครึ่งปลา และมีความงดงามคมซึ้งไม่ด้อยกว่าเทพธิดาบนสรวงสวรรค์... สุพรรณมัจฉา

นิลพัท

นิลพัท เป็นบุตรพระกาฬ พระกาฬมอบให้พระอิศวร พระอิศวรมอบให้เป็นบุตรบุญธรรมของท้าวมหาชมพู เจ้าเมืองชมพู มีฤทธิ์มากเทียบเท่ากับหนุมาน ไม่ถูกกับหนุมาน จึงกลั่นแกล้งหนุมานตอนพระรามสั่งให้กองทัพลิงไปขนหินถมถนนไปสู่กรุงลงกา หนุมานกับนิลพัทเลยต่อสู้กัน พระรามจึงมาสงบศึกและตัดสิน เมื่อทราบความว่านิลพัทเป็นฝ่ายหาเรื่องก่อน พระรามกริ้วนิลพัทมาก เนรเทศให้ไปอยู่เมืองขีดขินสั่งให้คอยส่งเสบียงอาหารให้แก่กองทัพ เมื่อเสร็จศึกกรุงลงกาพระรามแต่งตั้งให้เป็นอุปราชกรุงชมพูมีนามใหม่ว่า พระยาอภัยพัทวงค์
นิลพัทมีลักษณะเหมือนหนุมานทุกอย่าง เพียงแต่มีกายสีดำ มีกุณฑร ขนเพชร เขี้ยวแก้ว สี่หน้า แปดกร และหาวเป็นดาวเป็นเดือนเหมือนหนุมาน
ในทางวิชาการละคร อาจกล่าวได้ว่า ตัวละคร เช่น นิลพัทเป็นด้านที่อยู่ตรงข้ามกับหนุมานก็ว่าได้

จตุรพักตร์

(พรหม) มีนามเดิมว่า ท่าวมหาอัชดาหรือธาดา เป็นผู้ครองกรุงลงกาองค์แรก มเหสีคือนางมลิกา โอรสเป็นยักษ์สี่มือ ชื่อ ลัสเตียน อาวุธคือตรีศูล คทา และฉัตรแก้ว มีบุษบกแก้วเป็นอากาศยานวิเศษ ท้าวจตุรพักตร์นี้เป็นน้องท้าวมาลีวัคคพรหมหรือท้าวมาลีวราช ดังนั้นในรามเกียรติ์ทศกัณฐ์จีงถือว่าตนเป็นวงศ์พรหม

นางไกยเกษี


เป็นธิดาท้าวไกยเกษ กับนางประไภวดีหรือเกศินี เป็นชายาหนึ่งของท้าวทศรถ มีโอรสชื่อพระพรต เมื่อครั้งพระอินทร์เชิญท้าวทศรถขึ้นไปปราบยักษ์ปทูตทันต์ที่ขึ้นไปรุกรานสวรรค์ ปทูตทันต์แผลงศรถูกเพลารถพระที่นั่งหักลง นางไกยเกษีเอาแขนสอดแทนเพลาที่หัก ท้าวทศรถจึงพระราชทานพร เมื่อท้าวทศรถจะมอบราชสมบัติให้พระราม นางจึงใช้โอกาสขอพรนั้น ให้พระพรตครองราชย์ก่อน และขอให้พระรามออกผนวชเป็นเวลา ๑๔ ปี นางจึงเป็นต้นเหตุให้พระรามเดินดง และท้าวทศรถสิ้นพระชนม์ด้วยความตรอมพระทัยที่พรากจากโอรส นางถูกห้ามไม่ให้จุดไฟพระเพลิง หลังจากพิธีบรมศพ นางไปทูลขอลุแก่โทษและกราบทูลให้พระรามกลับมาครองราชย์

สุครีพ


สุครีพ เป็นลิงมีกายสีแดง เป็นลูกของพระอาทิตย์กับนางกาลอัจนา สุครีพมีศักดิ์เป็นน้าของหนุมาน เมื่อพระฤาษีโคดมรู้ความจริงจากนางสวาหะว่าสุครีพไม่ใช่ลูกของตน แต่เป็นลูกชู้ จึงสาปให้กลาย
เป็นลิงพร้อมกับพาลีผู้เป็นพี่ชาย ซึ่งเป็นลูกของพระอินทร์แล้วไล่ให้เข้าป่าไป ต่อมาสุครีพได้เป็นทหารเอกของพระราม ได้รับความไว้วางพระทัยจากพระราม ให้เป็นผู้คุมกองทัพ ออกสู้รบกับกองทัพของกรุงลงกาอยู่เสมอ

หนุมาน


หนุมาน เป็นลิงเผือก (กายสีขาว) มีลักษณะพิเศษ คือ มีเขี้ยวแก้วอยู่กลางเพดานปาก มีกุณฑลขนเพชร สามารถแผลงฤทธิ์ให้มีสี่หน้าแปดมือ แลหาวเป็นดาวเป็นเดือนได้ ใช้ตรีเพชร (สามง่าม) เป็นอาวุธประจำตัว(จะใช้เมื่อรบกับยักษ์ตัวสำคัญๆ) มีความเก่งกล้ามากสามารถแปลงกาย หายตัวได้ ทั้งยังอยู่ยงคงกระพัน แม้ถูกอาวุธของศัตรูจนตาย เมื่อมีลมพัดมาก็จะฟื้นขึ้นได้อีก เมื่อนางสวาหะถูกมารดาสาปให้ไปยืนตีนเดียวเหนี่ยวกินลม พระอิศวรจึงบัญชา ให้พระพายนำเทพอาวุธของพระองค์ไปซัดเข้าปากของนางนางจึงตั้งครรภ์และคลอดบุตรเป็นลิงเผือก เหาะออกมาจากปาก ได้ชื่อว่าหนุมาน หนุมานจึงถือว่าพระพายเป็นพ่อของตน หนุมานได้ถวายตัวเป็นทหารเอกของพระราม ช่วยทำการรบจนสิ้นสงคราม

องคต


องคต เป็นลิงมีกายสีเขียว เป็นบุตรของพาลี กับนางมณโฑ เมื่อพาลีแย่งนางมณโฑมาจากทศกัณฐ์แล้ว นางต้องเป็นภรรยาของพาลีจนกระทั่งตั้งครรภ์ ทศกัณฐ์ไปฟ้องฤาษีอังคัตอาจารย์ของพาลี จนพาลียอมคืนนางมณโฑให้แต่ขอลูกไว้ ฤาษีอังคัตจึงทำพิธีเอาลูกออกจากท้องนางมณโฑไปใส่ในท้องแพะ เมื่อครบกำหนดคลอด พระฤาษีก็ทำพิธีีให้ออกจากท้องแพะ ให้ชื่อว่า องคต ส่วนทศกัณฐ์ยังผูกใจเจ็บจึงแปลงกายเป็นปูยักษ์คอยอยู่ก้นแม่น้ำ เพื่อจะฆ่าองคตขณะทำพิธีลงสรง แต่ถูกพาลีจับได้ แล้วเอามาผูกไว้ให้ลูกลากเล่นอยู่เจ็ดวันจึงปล่อยไป เมื่อสุครีพขอให้พระรามมาช่วยปราบพาลี ก่อนที่พาลีจะสิ้นใจตาย ได้สำนึกตนว่าทำผิดต่อสุครีพ ทั้งไม่รักษาคำสัตย์สาบาน จึงได้ทูลฝากฝังสุครีพและองคตไว้กับพระราม องคตได้ช่วยทำศึกกับกองทัพของทศกัณฐ์อย่างเต็มความสามารถ พระรามเคยส่งองคตเป็นทูตไปเจรจากับทศกัณฐ์ เพื่อทวงนางสีดาคืนแม้จะไม่สำเร็จ แต่ก็ได้แสดงความเฉลียวฉลาด และความกล้าหาญ ให้ประจักษ์แก่ตาของทศกัณฐ์

พระลักษณ์


พระลักษมณ์ คือ พญาอนันตนาคราชที่ประทับของพระนารายณ์มาเกิด มีกายสีทอง เป็นพระโอรสของท้าวทศรถ กับนางสมุทรเทวี มีพระอนุชาร่วมพระมารดา คือ พระสัตรุต พระลักษมณ์มีความจงรักภักดีต่อพระรามมาก เมื่อพระรามต้องออกเดินป่าถึง ๑๔ ปี พระลักษมณ์ก็ได้ติดตามไปด้วย และยังช่วยออกรบกับกองทัพของกรุงลงกา อย่างกล้าหาญ

นางสีดา


นางสีดา คือ พระลักษมี มเหสีอของพระนารายณ์ อวตารลงมาเกิด เพื่อเป็นคู่ครองของพระราม ตามบัญชาของพระอิศวร นางสีดา เป็นพระธิดาของทศกัณฐ์ กับนางมณโฑ แต่เมื่อประสูติแล้ว พิเภกได้ทำนายว่า นางเป็นกาลกิณีแก่พระบิดาและบ้านเมือง ทศกัณฐ์จึงสั่งให้นำนางใส่ผอบลอยน้ำไป พระฤาษีชนกพบเข้า จึงเก็บไปเลี้ยงเป็นลูก โดยฝังดินฝากแม่พระธรณีไว้ เวลาผ่านไปถึง ๑๖ ปี พระฤาษีชนกเบื่อหน่ายการบำเพ็ญพรต คิดกลับไปครองกรุงมิถิลาเช่นเดิม จึงลาเพศพรหมจรรย์ไปขุดนางขึ้นมา แล้วตั้งชื่อให้ว่า สีดา (แปลว่ารอยไถ) จากนั้นพานางพานางเข้าเมืองมิถิลา จัดพิธียกศรคู่บ้าน คู่เมืองเพื่อเสี่ยงทายหาคู่ครองให้นางสีดา พระรามยกศรได้ จึงได้อภิเษกสมรสกับนางสีดา

พระราม


พระราม คือ พระนารายณ์อวตาร (แบ่งภาค) ลงมา ถือกำเนิดเป็นพระราชโอรสของท้าวทศรถ กับ นางเกาสุริยา เพื่อจะปราบทศกัณฐ์ พระรามมีพระอนุชาต่างพระมารดา ๓ พระองค์ คือ พระพรต พระลักษมณ์ และพระสัตรุต ซึ่งต่างก็มีความรักใคร่กันอย่างมาก พระมเหสีของพระราม คือ นางสีดา พระรามมีกายสีเขียวสามารถปรากฏร่างเป็นพระนารายณ์มีสี่กรได้ อาวุธประจำพระองค์ คือ ศรซึ่งเป็นอาวุธวิเศษ ที่ได้ประทานมาจากพระอิศวร บทบาทที่สำคัญในเรื่องรามเกียรติ์ ได้แก่- เมื่อเยาว์วัยพระรามได้รับการศึกษาศิลปศาสตร์ กับสำนักฤาษีสวามิตรหรือวิศวามิตร มีความเก่งกล้า ถึงกับฆ่ากากนาสูร และสวาหุ ซึ่งมารบกวนเหล่า ฤาษีชีไพร

- ท้าวชนกจักรวรรดิ์(ฤาษีชนก) ได้ให้หมู่กษัตริย์มาประลองยกศรรัตนธนู เพื่ออภิเษกกับนางสีดา

พระรามก็สามารถยกรัตนธนูได้สำเร็จ และได้อภิเษกกับนางสีดา

ระหว่างเดินทางกลับกรุงอโยธยา สามารถปราบรามสูร(ยักษ์ผู้ถือขวาน)

และได้รับศรจากรามสูร

- ได้ฆ่าพระยาขร และพระยาทูษณ์ พี่ชายของนางสำมนักขา

- ระหว่างออกเดินป่า ได้ปราบพิราบยักษ์

- ได้ช่วยสุครีพปราบพาลี

- ไปรบกับทศกัณฐ์ และได้ฆ่าทศกัณฐ์ได้สำเร็จ

- สถาปนาพิเภกให้ครองกรุงลงกา

พิเภก


พิเภก คือ เทพบุตรเวสสุญาณ จุติลงมาเกิดเพื่อช่วยพระรามปราบทศกัณฐ์ มีกายสีเขียว เป็นน้องของทศกัณฐ์ มีความรู้ทางโหราศาสตร์อย่างยอดเยี่ยม สามารถทำนายเหตุการณ์ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ เมื่อทศกัณฐ์ลักพานางสีดามาพิเภกได้ทูลตักเตือน และแนะนำให้ส่งนางสีดาคืนไปทำให้ทศกัณฐ์โกรธมาก จนขับไล่พิเภกออกไปจากเมืองพิเภกจึงไปสวามิภักดิ์กับพระราม ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ จนกระทั่งพระรามชนะสงคราม หลังจากเสร็จศึกแล้ว พระรามได้สถาปนาให้พิเภกเป็นกษัตริย์ครองกรุงลงกา มีพระนามว่า ท้าวทศคีรีวงศ์

กุมภกรรณ

กุมภกรรณ เป็นยักษ์มีกายสีเขียว มีหอกโมกขศักดิ์เป็นอาวุธ ได้ชื่อว่า กุมภกรรณ (หูหม้อ) เพราะมีร่างกายใหญ่โตจนเอาหม้อใส่ไว้ในหูได้ กุมภกรรณ เป็นน้องร่วมมารดาของทศกัณฐ์ โดยเป็นพี่ของพิเภก ครั้งหนึ่ง กุมกรรณออกรบกับพระลักษมณ์ ได้พุ่งหอกโมกขศักดิ์ไปถูกพระลักษมณ์จนสลบ แต่พิเภกและหนุมานช่วยแก้ไขให้ฟื้นได้ ต่อมา กุมภกรรณได้ทำพิธีทดน้ำโดยเนรมิตรกายให้ใหญ่โตขวางทางน้ำไว้ เพื่อให้กองทัพของพระรามอดน้ำตาย แต่ถูกหนุมานทำลายพิธีครั้งสุดท้าย กุมภกรรณออกรบกับพระราม ถูกศรของพระรามจนเสียชีวิต

นางมณโฑ



เมื่อเอ่ยถึง “นางมณโฑ” ในเรื่อง “รามเกียรติ์” เชื่อว่าหลายคนคงจะรู้สึกคุ้นหูกับชื่อนี้ไม่น้อยไปกว่านามของนางสีดา นางเบญกาย หรือนางสุพรรณมัจฉา แต่ประวัตินางมณโฑเป็นมาอย่างไร คนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่รู้ . . .

ทั้งๆ ที่เรื่องราวของนางก็น่าสนใจไม่น้อย ข้อสำคัญ แม้เธอจะมิใช่สาวแรงสูงผู้ไขว่คว้าหาความรัก แต่เชื่อไหมว่าในเรื่องเธอต้องมี “สามี” ถึงสี่คน เล่ากันว่าที่เชิงเขาหิมพานต์ มีฤาษีสี่ตน บำเพ็ญพรตอยู่เป็นเวลาช้านาน และมีตบะแก่กล้ามาก ทุกๆ เช้า จะมีนางโค 500 ตัว มาที่อาศรมของฤาษี และต่างก็จะหยดนมของตัวลงในอ่างแก้วเพื่อให้ฤาษีได้ฉันเป็นอาหารเช้า ซึ่งฤาษีก็จะแบ่งนมส่วนหนึ่งให้แก่นางกบตัวเมียตัวหนึ่งที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นเป็นประจำทุกวันเช่นกัน อยู่มาวันหนึ่งฤาษีทั้งสี่ออกไปป่า พบนางนาคตนหนึ่งกำลังเสพสังวาสกับงูดิน ฤาษีเห็นว่านางนาคเป็นสัตว์ตระกูลสูงกว่า ไม่น่าจะมาสมสู่กับงูดิน จึงได้เอาไม้เท้าเคาะไปที่ขนดหางนางนาคเบาๆ นางนาคกำลังร่านด้วยแรงราคะก็ยังไม่รู้ตัว ฤาษีจึงเคาะซ้ำไปที่กลางลำตัว นางนาคตกใจคลายขนด (ขะ-หฺนด หมายถึงตัวงูที่ขด หรือโคนหางงู) ออกมาเห็นฤาษี ก็รู้สึกอับอายขายหน้า จึงหนีกลับไปเมืองบาดาล กลับไปแล้ว ยิ่งคิดก็ยิ่งคิดแค้นใจพระฤาษีที่ทำให้ตนได้รับความอับอาย และคิดว่าหากพระยากาฬนาคพ่อตนรู้เข้า นอกจากตนจะเสื่อมเสียแล้ว ก็อาจมีโทษถึงตาย เมื่อคิดได้ดังนั้น นางนาคจึงกลับไปอาศรมฤาษี แล้วคายพิษลงในอ่างน้ำนมที่ฤาษีทั้งสี่ต้องฉันทุกเช้า ฝ่ายนางกบเห็นเช่นนั้น ก็ตกใจ และด้วยความกตัญญูสำนึกในพระคุณของฤาษีที่เลี้ยงตนมา จึงตัดสินใจตายแทน ด้วยการกระโดดลงไปในอ่างนม และขาดใจตายเพราะพิษนางนาคนั้นครั้นฤาษีทั้งสี่กลับมาจะฉันน้ำนม เห็นนางกบนอนตายในนั้น ก็รู้สึกไม่พอใจคิดว่านางกบตะกละ แต่ก็ยังมีใจเมตตาอยู่ จึงชุบชีวิตนางกบขึ้นมาใหม่ แล้วสอบถามดูว่าทำไมประพฤติตัวโลภมากอย่างนี้ ให้กินทุกวันยังไม่พอใจอีกหรือ นางกบก็เล่าความจริงให้ฟังถึงเรื่องนางนาคมาคายพิษไว้ ฤาษีฟังแล้ว เห็นในคุณความดีของนางกบ จึงได้ทำพิธีก่ออัคคีแล้วร่ายมนตร์วิเศษ พร้อมโยนนางกบลงในไฟ ชุบชีวิตขึ้นมาใหม่กลายเป็นสาวที่มีรูปโฉมโนมพรรณงามกว่าหญิงใดในสวรรค์ทั้งหก ดังพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๑ ที่ว่า

"เดชะพระเวทสิทธิศักดิ์ พระวิษณุรักษ์รังสรรค์

เกิดเป็นกัลยาวิลาวัณย์ งามวิจิตรพิศพรรณขวัญตา

งามพักตร์ยิ่งชั้นมหาราช งามวิลาสล้ำนางในดึงสา

งามเนตรยิ่งเนตรในยามา งามนาสิกล้ำในดุษฎี

งามโอษฐ์งามกรรณงามปราง ยิ่งนางในนิมาราศี

งามเกศยิ่งเกศกัลยาณี อันมีในชั้นนิรมิต

ทั้งหกห้องฟ้าหาไม่ได้ ด้วยทรงลักษณ์วิไลไพจิตร

ใครเห็นเป็นที่เพ่งพิศ ทั้งไตรภพจบทิศไม่เทียมทัน"

จากพระราชนิพนธ์ข้างต้น จะเห็นได้ว่าหน้าตาของนางมณโฑเลิศล้ำสวยงามเพียงใด และจากที่นางมีกำเนิดมาจากกบ พระฤาษีจึงตั้งชื่อให้ว่า “นางมณโฑ” ที่แปลว่า “กบ” อันเป็นสถานภาพเดิมของนาง และเนื่องจากพระฤาษีเห็นว่านางเป็นหญิงสาวไม่เหมาะจะอยู่ด้วย เกรงเป็นที่ติฉินนินทาได้ จึงพร้อมใจกันพานางไปถวายพระอิศวร (พระศิวะ) พระอิศวรก็รับนางไว้ และให้ไปอยู่กับพระแม่อุมา พระชายาของพระองค์ นับตั้งแต่ไปอยู่กับพระอุมา นางมณโฑก็ตั้งใจปรนนิบัติรับใช้พระแม่เป็นอย่างดี จนเป็นที่เมตตาและพระแม่อุมาก็ได้บอกพระเวทย์ต่างๆ ให้ต่อมาเขาไกรลาสเอียงทรุด เพราะยักษ์วิรุฬหกจากเมืองบาดาลโกรธสารภูตุ๊กแกที่ล้อเลียนตน จึงขว้างสังวาลนาคใส่ และเลยไปถูกเขาไกรลาสจนเอียง พระอิศวรจึงประกาศแก่เหล่าเทวดาทั้งหลายที่มาเฝ้าว่า หากใครยกเขาไกรลาสให้ตั้งตรงได้ จะมีรางวัลให้อย่างงาม ก็ปรากฎว่าไม่มีใครยกได้ พระอิศวรจึงต้องให้เทวดาไปตามทศกัณฐ์มายกให้จึงสำเร็จ ทศกัณฐ์ก็ทูลขอพระแม่อุมาเป็นรางวัล พระอิศวรแม้ไม่พอใจที่ทศกัณฐ์เหิมเกริม แต่เนื่องจากออกโอษฐ์ไปแล้ว ก็จำยอมประทานให้ตามขอ เพราะรู้ว่าอย่างไรเสีย ทศกัณฐ์ก็ต้องนำมาคืนแน่นอน ฝ่ายทศกัณฐ์พอได้รับประทานพระอุมา ก็ตรงเข้าไปอุ้มพระแม่อุมา แต่ครั้นถูกองค์พระแม่ ก็รู้สึกร้อนเหมือนถูกไฟไหม้ จึงจำต้องช้อนพระบาทพระอุมาทูนไว้บนหัว เหาะกลับเมืองลงกา เหาะต่อมาไม่นาน ก็รู้สึกร้อนจนทนไม่ได้ จึงต้องวางพระแม่อุมาลง และพาเดินต่อไป ส่วนเหล่าเทวดานางฟ้าเห็นทศกัณฐ์พาพระอุมาไปเช่นนั้นก็ตกใจ จึงพากันไปเฝ้าพระนารายณ์ให้ช่วยแก้ไข พระนารายณ์จึงออกอุบายแปลงเป็นยักษ์แก่ ปลูกต้นไม้เอายอดลงดิน รากชี้ฟ้า ทศกัณฐ์พาพระอุมาเดินผ่านก็สงสัยและแปลกใจ ถามว่าทำไมโง่ปลูกต้นไม้แบบนี้ ยักษ์แปลงก็ว่าทศกัณฐ์แหละโง่ ไปพาหญิงร้ายที่จะมาทำลายเหล่ายักษ์มาทำไม ไม่รู้จักขอของดีมา ทศกัณฐ์ได้ฟังก็ชักเห็นตาม เพราะตนเองพาพระอุมามาก็ร้อนเข้าใกล้ไม่ได้ จึงถามยักษ์แก่ดู ก็ได้รับคำแนะนำให้ไปขอนางมณโฑ ทศกัณฐ์จึงพาพระอุมาทูนหัวเหาะกลับไปคืนพระอิศวร และขอนางมณโฑมาแทนระหว่างพานางมณโฑเหาะกลับเมืองนั้น ถึงคราวเคราะห์ของทศกัณฐ์ที่เหาะผ่านเมืองขีดขินของพาลี พญาลิงที่กำลังว่าราชการอยู่ ทำให้พาลีไม่พอใจฉวยพระขรรค์เหาะไปขวางหน้าทศกัณฐ์ ครั้นเห็นนางมณโฑงามดั่งนางฟ้าก็นึกรัก จึงพาลหาเรื่องต่อสู้กับทศกัณฐ์ๆ พ่ายแพ้ พาลีจึงแย่งนางมณโฑมาได้ แล้วพากลับเมืองได้นางเป็นเมีย นางมณโฑนั้นแต่แรกก็ไม่ยินยอม แต่ก็ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ กอปรกับพาลีใช้ทั้งวาทศิลป์และเล่ห์ชายจนนางต้องยินยอมในที่สุด นับว่าพาลีเป็นสามีลิงคนแรกของนาง ส่วนทศกัณฐ์นั้นเมื่อกลับกรุงลงกา ก็เสียใจที่แพ้และยังถูกแย่งนางมณโฑไป จึงคลุ้มคลั่งพาลทำร้ายนางสนมกำนัลในไปหมด ใครเอาใจอย่างไรก็ไม่ถูกใจ และไม่ว่าราชการนานถึงเจ็ดเดือน กุมภกรรณและพิเภกน้องชายจึงช่วยกันคิดหาวิธีแก้ไข ด้วยการไปเชิญพระโคบุตร อาจารย์ของทศกัณฐ์มา เมื่อทราบเรื่องทั้งหมดแล้ว พระโคบุตรจึงไปหาพระอังคต อาจารย์ของพาลี เพื่อให้ว่ากล่าวพาลีให้คืนนางมณโฑแก่ทศกัณฐ์ พระอังคตจึงเดินทางไปหาพาลีกล่อมให้คืนนางมณโฑ และว่าพาลีทำไม่ถูกที่ไปแย่งเมียคนอื่นเขามา ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง พาลีไม่อยากคืน ก็อ้างว่านางท้องได้หกเดือนแล้ว ไม่อยากให้ลูกตนไปอยู่กับยักษ์ พระอังคตจึงว่าเรื่องนี้ไม่ยาก ท่านจะแหวะท้องนาง เอาลูกมาใส่ในท้องแพะไว้ก่อนจนกว่าจะคลอด พาลีบ่ายเบี่ยงอย่างไรก็ไม่เป็นผล แม้จะไม่เต็มใจ ก็จำต้องยอมคืนนางแก่ทศกัณฐ์ ครั้นนางมณโฑทราบเรื่องก็เสียใจ ร้องไห้จนสลบไป พระอังคตเห็นเป็นโอกาสดี จึงผ่าท้องเอาลูกนางไปใส่ในท้องแพะ และร่ายมนตร์วิเศษปิดท้องให้อย่างเดิม เมื่อนางฟื้นก็พาตัวไปคืนทศกัณฐ์ ส่วนลูกนางกับพาลีที่ฝากไว้กับท้องแพะ เมื่อถึงกำหนดสิบเดือน พระอังคตก็ทำพิธีผ่าออกมาจากท้องแพะ แล้วให้ชื่อว่า “องคต” เลียนชื่อท่านเองเพื่อเป็นมงคลนาม (นี่จะเห็นว่า การอุ้มบุญ มีมาแต่โบราณกาล แถมวิทยาการยังทันสมัยกว่าอีก เพราะให้สัตว์อุ้มท้องแทนก็ได้)

ส่วนทศกัณฐ์ได้นางมณโฑคืนมา ก็ดีใจพาเหาะกลับกรุงลงกา แล้วเกี้ยวพาราสีต้องเนื้อต้องตัวนาง จนในที่สุดก็ได้นางเป็นเมียสมใจ ถือเป็นสามีคนที่สอง นางมณโฑนั้น เมื่อเป็นเมียพาลีก็คงรักพาลี เพราะเป็นชายคนแรกของนาง ครั้นต้องมาเป็นเมียทศกัณฐ์ นางก็รักและจงรักภักดีต่อทศกัณฐ์เช่นกัน ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อทศกัณฐ์ลักนางสีดามา และต้องทำสงครามต่อสู้กับพระราม พระลักษณ์และหนุมานยืดเยื้อเป็นเวลานาน จนต่างฝ่ายต่างต้องเสียไพร่พลไปมากมายนั้น ทศกัณฐ์ก็ได้สอบถามนางมณโฑว่า ตอนที่นางอยู่กับพระแม่อุมา ได้เรียนมนตร์วิเศษอะไรบ้าง นางก็ว่าเคยเรียนมนตร์ที่เรียกว่า “สัญชีพ” ไว้ ซึ่งมนตร์นี้ถ้าทำสำเร็จจะได้น้ำทิพย์อันวิเศษ ผู้ใดตายไปแล้ว หากพรมด้วยน้ำทิพย์นี้ ก็จะฟื้นคืนชีพขึ้นมา ใช้ให้ทำอะไรก็ได้ และยังสามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ด้วย แต่มีข้อแม้ว่าผู้ทำพิธีห้ามพูด และห้ามร่วมเสน่หาระหว่างกระทำพิธี ทศกัณฐ์ได้ทราบก็ดีใจนัก รีบตั้งโรงพิธีให้นางมณโฑทันที ครั้นทำพิธีครบเจ็ดวัน ก็บังเกิดน้ำทิพย์ขึ้นในหม้อทองคำ นางมณโฑก็ให้รีบนำไปให้ทศกัณฐ์ที่สนามรบ ทศกัณฐ์จึงใช้น้ำทิพย์ประพรมไพร่พลยักษ์ที่ตายไป ทำให้เหล่ายักษ์ปีศาจฟื้นขึ้นมาช่วยต่อสู้ใหม่ และเข้าโจมตีไพร่พลวานรของพระรามจนแตกกระเจิงไป พระรามเห็นดังนั้น ก็สอบถามพิเภกดู เมื่อทราบความจริง จึงได้ส่งหนุมาน พร้อมด้วยวานรอีกจำนวนหนึ่งไปทำลายพิธี หนุมานจึงได้แปลงตนเป็นทศกัณฐ์ และให้พลพรรควานรที่ไปด้วยแปลงเป็นพวกทศกัณฐ์เดินทัพกลับเข้ากรุงลงกา ทำทีว่าชนะศึกกลับมาแล้ว จากนั้นหนุมานก็ตรงไปโรงพิธี ใช้เล่ห์กลหลอกนางมณโฑให้เข้าใจว่าตนเป็นทศกัณฐ์กลับมาขอบคุณนางที่ทำให้รบชนะ แล้วก็พานางกลับปราสาทโอ้โลมปฏิโลมจนได้ร่วมพิศวาสกับนาง ส่วนพลพรรควานรที่อยู่ข้างนอกก็ทำลายโรงพิธีจนหมดสิ้น เมื่อหลอก “นอน”กับนางมณโฑ เป็นการทำลายพิธีได้สำเร็จแล้ว หนุมานแปลงก็ลานาง ทำทีว่าจะไปจับพิเภกที่หนีไปได้ จากนั้นก็กลับไปทูลพระรามว่าสามารถล้มพิธีได้แล้ว พระรามจึงสั่งให้สุครีพนำพลเข้าโจมตีพวกยักษ์ ฝ่ายทศกัณฐ์เมื่อต่อสู้ไปๆ น้ำทิพย์ที่จะพรมยักษ์ตาย ให้ฟื้นก็หมด ไม่เห็นมีใครมาส่งเพิ่ม แล้วยังถูกพวกลิงเยาะเย้ย ก็เอะใจ ขอพักรบ แล้วกลับเมือง ไปถึงเห็นโรงพิธีพินาศ จึงไปสอบถามและต่อว่านางมณโฑที่อยู่ในปราสาท และยังไม่รู้อิโหน่อิเหน่อยู่ นางมณโฑก็เล่าเรื่องราวให้ทราบ ทศกัณฐ์ก็รู้ว่าเสียท่าหนุมานแล้ว ก็บอกเมีย นางมณโฑทั้งอับอายขายหน้า ทั้งเสียใจที่เสียตัวและเสียรู้หนุมาน จึงร้องไห้จนสลบไป ทศกัณฐ์ก็แก้ไขจนฟื้น แต่นางยังรู้สึกเสียใจร้องไห้รำพึงรำพันขอให้ทศกัณฐ์ฆ่านางเสีย เพราะนางทำให้เสียเกียรติสามี แต่ทศกัณฐ์นั้นทั้งรักและสงสารเมีย จึงปลอบโยนนางมณโฑ และว่าตนไม่ถือโทษโกรธนาง ถือเสียว่าเป็นกรรมเป็นเวรไปก็แล้วกัน ส่วนการต่อสู้ ตนก็จะหาวิธีอื่นต่อไป นางจึงค่อยคลายทุกข์ไป ดังนั้น หนุมานจึงเป็นสามีคนที่สาม แต่เป็นสามีลิงคนที่สองของนาง (พาลีเป็นคนแรก) แต่อย่างกรณีของหนุมาน จะนับว่าเป็นสามีจริงๆ จังๆ อย่างพาลี และทศกัณฐ์คงไม่ได้ เพราะเป็นการได้นางเป็นเมียแบบใช้เล่ห์กล และถ้านางรู้ก็คงไม่ยอมเป็นแน่ต่อมาภายหลัง เมื่อหนุมานสามารถล่อลวงเอากล่องดวงใจของทศกัณฐ์มาจากพระโคบุตร อาจารย์ของทศกัณฐ์ จนทำให้พระรามฆ่าทศกัณฐ์ตายได้ในที่สุดนั้น ก่อนตายทศกัณฐ์ก็ได้ฝากฝังนางมณโฑไว้กับพิเภกน้องชาย ครั้นชนะศึกแล้ว พระรามก็ได้จัดพิธีราชาภิเษกให้พิเภก ได้ครองกรุงลงกาต่อมา โดยให้ชื่อใหม่ว่า “ท้าวทศคิริวงศ์” และประทานนางมณโฑให้ พิเภกจึงเป็นสามีคนที่สี่ และเป็นสามียักษ์คนที่สองของนางมณโฑ ต่อมานางมณโฑได้คลอดลูกชายชื่อ “ไพนาสุริย์วงศ์” ซึ่งเป็นลูกทศกัณฐ์ที่ติดท้องนางมณโฑมา ก่อนที่ทศกัณฐ์จะตาย แต่พิเภกไม่รู้ และเข้าใจว่าเป็นลูกตน จึงรักและชื่นชมเลี้ยงดูลูกนางเป็นอย่างดี ต่อมาไพนาสุริย์วงศ์รู้จากพี่เลี้ยงว่าทศกัณฐ์ซึ่งเป็นพ่อแท้ๆ ตายไปแล้ว ส่วนพิเภกเป็นเพียงพ่อเลี้ยง จึงไปถามนางมณโฑดูจนรู้ความจริง จึงอุบายขอลาไปเรียนวิชา เมื่อเรียนจบก็แอบไปหาท้าวจักรวรรดิเพื่อนทศกัณฐ์ให้มาช่วยแก้แค้นพิเภก จับพิเภกขังคุก และท้าวจักรวรรดิ์ก็ได้ตั้งไพนาสุริย์วงศ์ลูกทศกัณฐ์กับนางมณโฑครองกรุงลงกาแทน โดยตั้งนามใหม่ให้ว่า “ทศพิน” ต่อมาทศพินก็ต้องตายไปเพราะมีการสู้รบแก้แค้นไปมา ส่วนนางมณโฑแม้จะได้ห้ามลูกไว้แต่แรกแล้ว แต่ทศพินหรือไพนาสุริย์วงศ์ก็ไม่ฟัง จึงต้องตายไปในที่สุด นางมณโฑเองก็เกือบต้องโทษในฐานะเป็นแม่ด้วย แต่พอดี “องคต” ลูกชายอีกคนที่เกิดกับพาลี มีความดีความชอบ จึงรอดพ้นโทษมาได้ ซึ่งเนื้อหารามเกียรติ์ตอนต่อไปยังมีอีกมาก แต่มิได้กล่าวถึงนางมณโฑอีก จะเห็นได้ว่าชีวิตของ “นางมณโฑ” นางกบที่พระฤาษีอุตส่าห์ชุบชีวิตให้เป็นสาวงาม แม้ว่าจะต้องมีผัวถึงสี่คน แต่ถ้าอ่านตามเนื้อเรื่องแล้ว จะเห็นได้ว่านางมิใช่หญิงที่จงใจใช้ความงามหว่านเสน่ห์เพื่อหาสามีเลย ตรงกันข้าม การมีสามีแต่ละครั้งแต่ละหน ล้วนอยู่ในภาวะจำยอมทั้งสิ้น นั่นคือ ไม่ถูกยกให้ ก็ถูกแย่ง หรือถูกหลอก โดยเมื่อแรกอยู่กับพระแม่อุมาดีๆ ก็ถูกยกให้ทศกัณฐ์ ยังไม่ทันอยู่กินกับทศกัณฐ์ก็ถูกแย่งไปเป็นเมียของพาลี แล้วถูกพากลับมาเป็นเมียทศกัณฐ์อีก ครั้นแล้วก็ต้องตกเป็นเมียหนุมานโดยไม่รู้ว่าถูกหลอกขณะทำพิธีช่วยทศกัณฐ์สามี และท้ายสุดก็ถูกยกให้เป็นเมียน้องสามีคือพิเภกอีก นางมณโฑจึงนับเป็นสาวงามผู้อาภัพยิ่งนัก แม้นางจะมากผัว เป็นผัวลิงบ้าง ผัวยักษ์บ้าง แต่ก็กล่าวได้ว่า นางมิใช่ผู้หญิงประเภทมั่วรัก กลับเป็นหญิงที่ดีงามคนหนึ่ง เพราะนางจงรักภักดีต่อสามีทุกคน (ยกเว้นหนุมานเพราะได้ด้วยเล่ห์กล) มิฉะนั้นแล้ว เราอาจจะมี วลีเสียดสีผู้หญิงที่มีสามีหลายคนเพิ่มจากนางวันทอง โมรา กากี โดยต่อท้ายว่า นางมณโฑมากผัวก็ได้

ทศกัณฐ์


ทศกัณฐ์ เป็นกษัตริย์แห่งกรุงลงกา นับว่าเป็นตัวเอกของเรื่องรามเกียรติ์ มีกายสีเขียว มี ๑๐ พักตร์ ๒๐ กร ทรงมงกุฏชัย ลักษณะปากแสยะ ตาโพลง ทศกัณฐ์ เดิมเป็นยักษ์นนทกกลับชาติมาเกิด เพื่อรบกับพระนารายณ์ ซึ่งอวตารมาเกิดเป็นมนุษย์ ไม่มีใครฆ่าให้ตายได้ เพราะทศกัณฐ์ถอดดวงใจ ใส่กล่องฝากไว้กับพระฤาษีโบุตรผู้เป็นอาจารย์ ทศกัณฐ์มีนิสัยเจ้าชู้ มีชายาและนางสนมมากมาย แต่ถึงกระนั้นเมื่อรู้ว่านางสีดาเป็นหญิงที่มีความงดงามมาก แม้นางจะมีพระสวามีอยู่แล้ว ก็ยังลักพาตัวไป จึงเป็นสาเหตุให้ต้องทำศึกกับพระราม จนญาติมิตรล้มตายไปเป็นจำนวนมาก และในที่สุดตนเองก็ถูกพระรามฆ่าตาย

กำเนิดโลก

   โลกของเราก่อกำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร? โลกเป็นดาวเคราะห์ที่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่สาม และเป็นดาวเคราะห์ที่พิเศษเพียงหนึ่งเดียวในระบบสุริยะจักรวาล เพราะโลกเท่านั้นที่มีอุณหภูมิที่เหมาะสมที่ทำให้น้ำคงสภาพอยู่ได้ และโลกยังเป็นดาวเคราะห์ดวงเดียวที่มีวิวัฒนาการจนมีออกซิเจนในบรรยากาศ ปัจจัยทั้งสองประการส่งผลให้ "โลก" มีสิ่งมีชีวิตนานาชนิดเกิดขึ้น ดังนั้นคำถามที่ว่า “โลกเกิดขึ้นมาได้อย่างไร” จึงเป็นคำถามที่ชวนให้น่าค้นหายิ่ง เพราะแม้แต่นักวิทยาศาสตร์เองก็ยังตั้งข้อสมมติฐานไปต่าง ๆ นานา แต่สมมติฐานที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดคือ โลกรวมทั้งระบบสุริยะจักรวาลเกิดจากกลุ่มก๊าซและฝุ่นขนาดยักษ์ที่เรียกว่า “เนบิวล่า” (Nebular)

          ระบบสุริยะจักรวาลเกิดมาท่ามกลางความมืดมิดของอวกาศ โดยกลุ่มก๊าซและฝุ่นละอองที่เรียกว่า เนบิวลา (Nebular) จะหมุนวนรอบตัวเองอย่างช้า ๆ คล้ายการหมุนของวงล้อ ก๊าซส่วนใหญ่ของเนบิวลา คือ ไฮโดรเจน การหมุนวนของเนบิวลานี้จะดึงดูด ก๊าซ ฝุ่นละอองและรังสีต่าง ๆ เข้าสู่ศูนย์กลาง ซึ่งแรงที่ทำให้เกิดการหมุนวนเข้าสู่ศูนย์กลางนี้ คือ แรงโน้มถ่วง (Gravity) นั่นเอง เมื่อเวลาผ่านไปนับพันล้านปี การหมุนวนเข้าสู่ศูนย์กลางของเนบิวลาจะทำให้เกิดมวลที่มีขนาดใหญ่ขึ้น มีรูปร่างคล้ายลูกบอลสีแดงขนาดยักษ์ และนี่คือจุดเริ่มต้นของดาวดวงใหม่ที่เรียกว่า ดวงอาทิตย์ ซึ่งได้แผ่พลังงานความร้อน แสงสว่าง และแรงดึงดูด ห่างออกไปประมาณ 13 พันล้านกิโลเมตร
          หลังจากเกิดดวงอาทิตย์แล้ว โลกได้เริ่มก่อกำเนิดขึ้นมาเมื่อประมาณ 4,600 ล้านปีที่แล้ว โลกที่เกิดขึ้นในยุคแรก ๆ จะเป็นกลุ่มก๊าซ ฝุ่นละออง และแร่ธาตุที่รวมตัวเป็นเนื้อเดียวกันทำให้โลกไม่มีการแยกชั้นเหมือนในปัจจุบัน แต่เพราะแรงดึงดูดมหาศาลทำให้ก๊าซ ฝุ่นละออง แร่ธาตุต่าง ๆ มีการรวมตัวกันมากขึ้นจนมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ การชนกัน, การอัดตัวของสสารต่าง ๆ และการสลายตัวของธาตุกัมมันตรังสีภายในโลกก่อให้เกิดความร้อนขึ้น เมื่อโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น เหล็กซึ่งเป็นโลหะที่มีมากที่สุดในโลกหรือประมาณ 1 ใน 3 ของมวลโลก จะหลอมละลายแล้วรวมตัวกันเป็นก้อนขนาดใหญ่จมลงสู่ใจกลางโลกกลายเป็น “แก่นโลก” ส่วนสสารที่เบากว่าจำพวกหินแข็งจะลอยขึ้นสู่ด้านบน และเย็นตัวลงกลายเป็น ”เปลือกโลก” และนี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นที่โลกเริ่มแบ่งออกเป็นชั้นต่าง ๆ รวม 3 ชั้น ทีนี้เราไปทำความรู้จักกันดีกว่าว่าแต่ละชั้นที่ว่านั้นเป็นอย่างไร
          1. ชั้นแรกนี้เป็นส่วนที่อยู่ใจกลางโลก เรียกว่า ชั้นแก่นโลก (Core) ซึ่งแบ่งเป็น 2 ชั้น คือ แก่นโลกชั้นนอก ส่วนใหญ่ประกอบด้วยโลหะหลอมเหลว จำพวกเหล็กและนิกเกิล ชั้นนี้มีอุณหภูมิสูงประมาณ 2,200 องศาเซลเซียส และแก่นโลกชั้นใน มีสภาพเป็นโลหะแข็ง และมีอุณหภูมิสูงมากถึง 7,000 องศาเซลเซียส!!! ในชั้นนี้มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นเหล็กและนิเกิลเหมือนแกนโลกชั้นนอก แต่มีสภาพเป็นโลหะแข็ง เนื่องจากได้รับแรงดันที่กดลงจากด้านบนมากที่สุด
          2. ชั้นที่สองเรียกกันว่า เนื้อโลก หรือชั้นแมนเทิล (Mantle) มีสภาพส่วนใหญ่เป็นหินหลอมเหลว เนื่องจากได้รับความร้อนจากแก่นโลกที่มีอุณหภูมิสูงมาก หินหลอมเหลวที่อยู่ในชั้นนี้ มีชื่อที่คุ้นหูว่า แมกมา (Magma) แต่เมื่อแมกมาปะทุขึ้นมาบนเปลือกโลกจากปรากฏการณ์ภูเขาไฟระเบิด จะเรียกว่า ลาวา (Lava) นั่นเอง
          3. ชั้นที่สามเป็นชั้นที่อยู่นอกสุด เรียกว่า ชั้นเปลือกโลก (Crust) บางส่วนของเปลือกโลกเกิดจากการเย็นตัวของลาวาแล้วกลายสภาพเป็นหินแข็ง โดยส่วนใหญ่จะเป็นหินแกรนิต และหินบะซอลต์ เปลือกโลกมีลักษณะเป็นแผ่นขนาดใหญ่ที่ลอยอยู่เหนือหินหลอมเหลวหรือแมกมา ด้วยเหตุนี้เองจึงส่งผลให้แผ่นเปลือกโลกที่เกิดขึ้นมาได้ประมาณ 3,500 ล้านปีมาแล้วมีการเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา ซึ่งมนุษย์เราสามารถรับรู้การเคลื่อนไหวนี้ได้จากการเกิดภูเขาไฟระเบิดและแผ่นดินไหว
          จากเหตุผลนี้เอง ทำให้นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่าในอดีต ทวีปต่าง ๆ เคยเป็นแผ่นดินขนาดใหญ่แผ่นเดียวที่เรียกว่า พันเจีย (Pangaea) แต่ต่อมาทวีปใหญ่พิเศษนี้ได้แยกออกจากกันเป็นเวลากว่าล้านปีมาแล้ว จนมีลักษณะเป็นทวีปต่าง ๆ ดังเช่นปัจจุบันที่เราเห็นกันอยู่นี้ โดยรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลกมีโอกาสที่จะเกิดภูเขาไฟระเบิดและแผ่นดินไหวได้มากที่สุด นอกจากนี้แล้ว การกัดเซาะของน้ำ กระแสลม และธารน้ำแข็งยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้แผ่นเปลือกโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาด้วยเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากลักษณะการคดเคี้ยวของแม่น้ำสายต่าง ๆ จะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไป ที่น่าตื่นเต้นยิ่งไปกว่านั่นคือ นักวิทยาศาสตร์พบว่าทวีปออสเตรเลียจะค่อย ๆ เคลื่อนที่เข้าหาทวีปเอเชียตรงบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปีละ 1 เซนติเมตร!!!


อ่านต่อ : http://writer.dek-d.com/equalgirlz/story/view.php?id=305204#ixzz1GYfOvK00

วันอาทิตย์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2554

กำเนิดหนุมาร

กำเนิดหนุมาน






ฝ่ายพระอิศวรเมื่อทราบว่านางกาลอัจนาสาบลูกสาวให้ไปยืนตีนเดียวเหนี่ยวกินลมที่เนินเขาจักรวาลก็สงสารนางสวาหะ จึงสั่งให้พระพายเอาเทพอาวุธและกำลังของพระองค์ไปซัดเข้าปากนางสวาหะให้มีลูกเป็นลิง

โดยให้กระบองเพชรเป็นสันหลังตลอดหาง ตรีเพชรเป็นตัว มือและเท้า ให้จักรแก้วเป็นหัว เมื่อจะต่อสู้กับศัตรูก็ให้ชักเอาตรีเพชรที่อกออกมาได้ และสั่งให้พระพายคอยดูแลนางสวาหะจนกว่าจะคลอด และอนุญาตให้พระพายเป็นพ่อ (ถ้าดูดี ๆ พ่อของหนุมานน่าจะเป็นเพราะอิศวรมากกว่านะคะ-ป้าแป๋วคิด)

พระพายได้รับเอากำลังและเทพอาวุธก็ขึ้นม้าเหาะไปยังเชิงเขาจักรวาล เอาเทพอาวุธซัดเข้าไปในปากนางสวาหะตามเทวราชโองการ แล้วบอกนางสวาหะว่า "พระอิศวรประทานลูกให้และให้เรามาป้องกันเจ้าไม่ให้ได้รับอันตรายใด ๆ"

นางสวาหะตั้งครรภ์อยู่ 30 เดือนก็ให้กำเนิดโอรส ฤกษ์พระอาทิตย์ปราศจากเมฆ วันอังคารเดือนสามปีขาล เวลาคลอดก็กระโจนออกมาจากปากแม่ เผือกผ่องไปทั้งกาย ตัวใหญ่เท่ากับอายุ 16 ปี แล้วก้เหาะขึ้นไปบนฟ้า มีรัศมีโชติช่วง มีกุณฑลขนเพชร เขี้ยวแก้ว หาวเป็นดาวเป็นเดือน มีแปดมือ สี่หน้า เมื่อสำแดงฤทธิ์แล้วก็ลงมากราบแม่และพระพายเพราะคิดว่าพระพายเป็นพ่อ

ฝ่ายพระพายเมื่อเห็นลิงน้อยสำแดงฤทธิ์ก็ดีใจ ตั้งชื่อตามที่พระอิศวรสั่งไว้ว่า "หนุมาน" แล้วพระพายก็ยังแบ่งพลังของตนให้หนุมานอีกด้วย

ฝ่ายนางสวาหะเมื่อคลอดลูกก็พ้นคำสาป ตรงเข้าอุ้มลูกกอดจูบด้วยความรักสุดประมาณ กอดพลางก็รำพันว่าเกิดมาก็ไม่ได้อยู่ด้วยกันจะต้องจากไป ไม่มีอะไรจะให้ลูก สั่งหนุมานว่าสำหรับกุลฑลขนเพชรนั้นถ้ามีใครทัก ท่านนั้นคือพระนารายณ์อวตารลงมาเพื่อฆ่ายักษ์ จงสวามิภักดิ์กับท่านผู้นั้น

หนุมานรับพรจากพระพายและฟังคำสั่งแม่แล้วก็ลาพระพายและแม่ไป หิวก็เก็บผลไม้กินตามประสา โดยไม่รู้ว่าสวนนั้นเป็นของใคร จนมาถึงสวนของพระอุมา หนุมานก็เข้าไปหักกิ่งไม้บ้าง เด็ดกินบ้างประสาลิงซน พระอุมาเห็นลิงน้อยเผือกผ่องเข้ามาซุกซนก็เกรี้ยวกราดตวาดว่า

"ดูดู๋เจ้าลิง เหตุใดเอ็งจึงมาหักกิ่งไม้ในสวนของเราผู้เป็นแม่ของโลก เราจะสาปเจ้าให้กำลังลดลงครึ่งหนึ่งให้สมกับที่อวดดี"

พอได้ยินคำสาป หนุมานก็ตกใจ รีบก้มลงกราบแล้วทูลว่า "อันตัวข้าเป็นลิงน้อยหาได้รู้สิ่งใดผิดสิ่งใดชอบ และไม่รู้ว่าเป็นสวนของเทพมารดานึกว่าเป็นป่า ไม่ได้คิดจะหมิ่นบาทยุคล ขอพระแม่โปรดปราณีข้าเถิด"

พระอุมาพอได้ฟังก็พูดว่า "เจ้าลิงน้อย อันคำของเรานั้นเป็นวาจาสิทธิ์ แต่เมื่อเจ้ารู้จักรับผิดเราก็จะให้อภัย เมื่อใดพระนารายณ์อวตารเป็นพระรามแล้วเอามือลูบหลังจนถึงหางเจ้า เจ้าก็จะพ้นคำสาบนี้มีกำลังดังเดิม

หนุมานต้องคำสาปแล้วก็ลาพระอุมาไปเรื่อย ๆ ฝ่ายพระพายเพิ่งนึกได้ว่ายังไม่ได้พาหนุมานฝากเนื้อฝากตัวกับพระอิศวรก็เหาะมาพาหนุมานไปเฝ้าพระอิศวรแล้วทูลว่า "นี่คือหนุมานลูกนางสวาหะพระเจ้าข้า"

พระอิศวรเห็นวานรน้อยมีท่วงทีแข็งแรงเหมาะจะเป็นทหารพระนารายณ์ก็ดีใจ จึงสอนคาถามมหามนต์แปลงกายหายตัว ให้คาถานะจังงัง ร่างกายคงทนและอวยพรให้อายุยืนชั่วกัลปาวสาน เมื่อถูกฆ่าตายแล้วลมพัดมาก็ให้ฟื้นได้

หนุมานเรียนเวทย์วิทยาจนชำนาญ คอยติดตามพระอิศวรจนหนุมานมีฤทธิ์มากแล้ว พระอิศวรก็คิดว่าพระยากากาศ (พาลี) และพระยาสุครีพ เป็นน้องของแม่หนุมานนั้นยังไม่มีลูกซึ่งมีฤทธิเยอะอย่างนี้ ก็เลยคิดจะส่งหนุมานกับชมพูพานไปอยู่เมืองขีดขิน คิดแล้วก็สั่งให้พระยากากาศและสุครีพเข้าเฝ้า

เมื่อทั้งสองมาเข้าเฝ้า พระอิศวรก็บอกว่าหนุมานเป็นหลานของทั้งสอง มีพระพายเป็นพ่อ และชมพูพานที่พระอิศวรชุบขึ้นด้วยเหงื่อไคลสรรพยาวิเศษ จึงขอฝากไปเลี้ยง เวลาพระนารายณ์ไปปราบยักษ์หากพลาดท่าเสียทีจะได้ช่วยกันแก้ไข

พระยากากาศก็รับหลานและชมพูพานไปอยู่ที่เมืองขีดขินและดูแลอย่างดี




หนุมาน


ชมพูพาน