วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2554

อสุรผัด

เป็นบุตรของหนุมาน กับนางเบญกาย มีหน้าเป็นลิง แต่มีหัวและตัวเป็นยักษ์ มีสีเหลืองเลื่อม เป็นหลานของพิเภก เมื่อพิเภกซี่งเป็นตา ถูกท้าวจักรวรรดิ กับไพนาสุริยวงศ์จับไปขังไว้ อสุรผัดจึงหนีมาหาหนุมาน เล่าเรื่องราวให้ฟัง พระราม จึงโปรดให้พระพรต กับพระสัตรุต ยกกองทัพไปปราบ ซึ่งเป็นการทำศึกกับกรุงลงกาครั้งที่สอง เมื่อเสร็จศึกแล้ว พระรามได้แต่งตั้งให้อสุรผัดมีตำแหน่ง เป็นพระยามารนุราชมหาอุปราชแห่งกรุงลงกา

มัจฉานุ

 เป็นลูกของหนุมานกับนางสุพรรณมัจฉาซึ่งเนื่องจากเป็นลูกของ หนุมานจึงได้มีร่างกายเป็นลิง แต่มีหางเป็นปลาเช่นเดียวกับ นางสุพรรณมัจฉา แต่เมื่อนางสุพรรณมัจฉา ได้คลอด มัจฉานุด้วยการสำรอกออกมาแล้ว เกรงว่าทศกัณฑ์จะรู้ว่าเป็นลูกตน จึงได้นำ มัจฉานุไปทิ้งไว้ที่หาดริมทะเล หลังจากนั้น ไมยราพณ์ ซึ้งเป็นเจ้าเมืองบาดาลได้เดินทางมาพบและเก็บไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม ซึ่งภายหลัง หนุมานที่ได้ตามติด ไมยราพณ์ซึ่งลักพาตัวพระรามมาไว้ที่เมืองบาดาล จึงได้พบกับมัจฉานุซึ่งทำหน้าที่เฝ้าด่านสระบัวอยู่ทั้ง 2 จึงได้ต่อสู้กัน แต่ต่างฝ่ายต่างก็ไม่สามารถเอาชนะกันได้เสียที จึงได้ถามมัจฉานุว่าเป็นลูกใครพ่อแม่ชื่ออะไร เมื่อได้ยินคำตอบของมัจฉานุหนุมานก็ดีใจมากเมื่อได้พบลูกของตน เมื่อเสร็จศึกกรุงลงกาครั้งที่ 2 และศึกกรุงมลิวัน จึงได้รับแต่งตั้งเป็น พญาหนุราช ครองกรุงมลิวัน

พระพรต

เป็นตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ มีกายสีแดง (คือจักรแก้วของพระนารายณ์ที่อวตารลงมาพร้อมกับพระราม) เป็นโอรสของ ท้าวทศรถ กับนาง ไกยเกษี แม่ของตนเป็นต้นเหตุที่ทำให้พระรามต้องออกเดินดง ๑๔ ปี กล่าวคือ ครั้งหนึ่งท้าวทศรถรบกับยักษ์ปทูตทันต์ ท้าวทศรถทรงนั่งรถศึกโดยมีนางไกยเกษีร่วมรบด้วย ท้าวทศรถพลาดรถทรงถูกศรของยักษ์เพลาล้อหลุด นางเห็นจึงนำแขนของตนใส่ไปแทนเพลาล้อ จนท้าวทศรถมีชัยชนะแก่ข้าศึก ท้าวทศรถดีใจมากประทานพรว่าจะให้สิ่งที่ต้องการทุกประการหากนางต้องการ เมื่อวันเวลาผ่านไปนางนึกได้จึงทูลขอกรุงศรีอยุธยาให้แก่พระพรตโอรสของตน และให้พระรามออกไปเดินดงเป็นเวลา ๑๔ ปี ท้าวทศรถได้ฟังเช่นนั้นจึงให้พรตามที่นางขอและตรอมใจตายในที่สุด ภายหลังเป็นจอมทัพไปรบยังกรุงลงกาครั้งที่ ๒ และศึกกรุงไกยเกษ พระรามจึงแต่งตั้งให้เป็นกษัตริย์ครองกรุงไกยเกษสืบไป

นางเบญกาย

เป็นธิดาของพิเภกและนางตรีชฎา ในคราวที่ทศกัณฐ์ทราบว่าพระรามยกทัพข้ามมาถึงกรุงลงกาแล้ว ก็สั่งให้นางเบญกายแปลงกายเป็นนางสีดาแกล้งทำเป็นตายลอยน้ำไปที่ค่ายพระราม เพื่อให้พระรามหมดกำลังใจรบ จะได้ยกทัพกลับไป
นางเบญกายทำตามบัญชาของทศกัณฐ์ เมื่อพระรามเห็นศพนางสีดาลอยน้ำมาก็เสียใจมากที่ต้องมาสูญเสียนางอันเป็นที่รักไป พาลต่อว่าหนุมานที่หนุมานเข้าไปเผากรุงลงกาในคราวนั้น ทศกัณฐ์คงเจ็บใจและสังหารนางสีดา แต่หนุมานก็รู้สึกถึงความผิดปกติ เพราะตามปกติ ศพที่ลอยน้ำจะต้องเป็นศพที่เน่าเปื่อย และอีกประการ ศพนางสีดานี้ลอยทวนน้ำขึ้นมา ผิดวิสัยของศพที่จะต้องลอยตามกระแสน้ำ จึงทูลขอศพนางสีดานั้นไปเผาไฟ ทำให้นางเบญกายทนไม่ได้ จึงกลับคืนร่างเดิมและเหาะขึ้นฟ้าไป แต่หนุมานก็เหาะตามไปจับตัวมาได้
โทษของนางเบญกายนั้นถึงประหารชีวิต แต่เนื่องจากพระรามเห็นว่านางเบญกายเป็นบุตรสาวของพิเภกผู้มีความยุติธรรม จึงได้ปล่อยนางเบญกายไป โดยให้หนุมานไปส่งนางเบญกายที่กรุงลงกา แต่ระหว่างทาง หนุมานซึ่งมีจิตปฏิพัทธ์นางเบญกายแต่แรกที่พบกัน ได้เกี้ยวพาราสีจนได้นางเบญกายเป็นภรรยา
ในคราวที่หนุมานมาปราบท้าวมหาบาลซึ่งบุกมาที่กรุงลงกา หนุมานได้เข้าไปพำนักกับนางเบญกายด้วย ทำให้ในเวลาต่อมา นางเบญกายได้ให้กำเนิดบุตรชายนามว่า อสุรผัด มีหน้าเป็นวานร และมีกายเป็นยักษ์

นางสุพรรณมัจฉา

เป็นธิดาของทศกัณฐ์กับนางปลา เป็นพี่น้องร่วมบิดากับนางสีดา ถึงแม้นางจะเป็นถึงธิดาของเจ้าผู้ครองกรุงลงกา แต่เจ้าหญิงองค์นี้ ก็ไม่มีโอกาสจะอยู่ในเวียงวังดังผู้อื่น เพราะนางอยู่ได้เฉพาะแต่ในน้ำ ดังนั้นที่อยู่ของนางจึงอยู่กลางทะเลใหญ่
หลังจากแผน "นางลอย" ของทศกัณฐ์ล้มเหลว กองทัพวานรของพระรามก็ได้เคลื่อนพลตรงมาอย่างรวดเร็วจนถึงฝั่งทะเล และถมหินเป็นเส้นทางใหญ่ ตัดผ่านห้วยน้ำมุ่งหน้าข้ามสู่ฝั่งลงกาอย่างขมีขมัน ข่าวจากแนวหน้าชิ้นนี้ทำให้ทศกัณฐ์เริ่มวิตกคิดหาทางสกัดกองกำลังของพระรามไม่ให้เข้าประชิดกรุงลงกาได้วิธีหนึ่ง...นั้นก็คือ หวังยืมมือของนางสุพรรณมัจฉาผู้เป็นธิดาให้ออกคำสั่งใช้เหล่าปลาทั้งหลายในทะเลอันเป็นบริวารของนางทำลายการจองถนนของบรรดาวานรเสีย
เมื่อตกลงใจได้มั่นเหมาะแล้ว ทศกัณฐ์ก็เรียกนางสุพรรณมัจฉาเข้าเฝ้า มอบหมายหน้าที่นี้ให้แก่ธิดาครึ่งปลาทันที นางสุพรรณมัจฉาพอได้รับคำสั่งของบิดา นางก็เร่งปฏิบัติตาม พาเหล่าบริวารปลาใหญ่เล็กทั้งหลายแหล่ของนาง ไปยังบริเวณที่พลพรรควานรขนหินถมลงในน้ำจนเริ่มปรากฏเป็นเส้นทางแล้ว สั่งให้บรรดาปลาในน้ำลอบคาบก้อนหินไปทิ้งยังอ่าวลึก สุครีพผู้ควบคุมพลวานรจองถนนยิ่งดูก็ยิ่งสงสัย เพราะเห็นหินที่ถมลงไปมากมายก่ายกอง ลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ อย่างไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ จึงปรึกษากับหนุมาน หนุมานเห็นจริงตามคำน้าชายว่า ก็อาสาจะลงไปดูลาดเลาในน้ำเอง จึงได้พบสาเหตุที่ทำให้ถนนทรุดลงเรื่อย ๆ ด้วยความโกรธ หนุมานชักตรีออกมาไล่ฆ่าฟันพวกปลาเสียมาก ต่อมานางสุพรรณมัจฉาเห็นเข้า ก็ว่ายหนีเข้าไปปะปนกับฝูงปลาอื่น ๆ เพราะความกลัว แต่ก็ยังไม่อาจหนีพ้น ถูกหนุมานตามทัน จับตัวไว้ได้ หนุมานที่กำลังโมโหพอจับตัวการใหญ่ได้ก็ตวาดถามด้วยโทสะ ทำให้นางนางสุพรรณมัจฉาที่กลัวลานอยู่แล้วยิ่งสั่นหนักเข้าไปใหญ่ นางได้สารภาพทุกอย่างตามจริงไม่มีปิดบัง ทั้งสัญญาจะขนหินมาคืนให้ เพียงวิงวอนหนุมานให้ไว้ชีวิตนางเท่านั้น หนุมานที่หูได้ยินเสียงวิงวอนหวาน ๆ ตาได้เห็นรูปโฉมสวย ๆ อารมณ์บูดจึงหายไปกว่าครึ่งแล้ว สิ่งเกิดขึ้นแทนที่คือ... ความเจ้าชู้ วานรทหารเอกของพระราม เลยแสดงบทบาทเกี้ยวพาราสีสาวสวยลูกครึ่ง (ครึ่งยักษ์ครึ่งปลา) อย่างไว้ฝีมือ จนนางสุพรรณมัจฉามีความหลงใหลหนุมานยิ่งนัก... นับว่า ‘ความรัก ไม่มีพรมแดน’ ได้จริง ๆ แล้วหนุมานก็เกลี้ยกล่อมให้นางสุพรรณมัจฉาเรียกบริวารปลาของนางไปขนหินกลับคืนมาช่วยกันทั้งบนบกและในน้ำ จนกระทั่งถนนสายสู่ลงกาสำเร็จด้วยดี จึงลาจากนาง กลับกองทัพไป รายงานผล หลังจากนุมานผละจากไปแล้ว นางสุพรรณมัจฉาก็เริ่มได้คิด นางไม่เพียงไม่อาจทำตามคำสั่งพระบิดาทำลายถนนทิ้งเท่านั้น ซ้ำร้ายยังมีส่วนช่วยสร้างถนนสายนี้ด้วย โทษแค่นี้ก็ถึงประหารแล้ว อย่าว่าแต่นางยังไปมีสัมพันธ์สวาทกับหนุมานทหารเอกของฝ่ายข้าศึก จนกำลังมีครรภ์เข้าอีก ยิ่งเป็นเหตุให้นางไม่กล้ากลับไปพบหน้าพระยายักษ์ทศกัณฐ์ ด้วยเหตุผลที่มีอันตรายรายล้อมรอบด้านนางสุพรรณมัจฉาจึงได้ตัดสินใจจะหาสถานที่เร้นลับซักแห่ง แอบสำรอกบุตรในท้องของนางไว้ นางหาได้เนินทรายชายหาดที่สงบเงียบแห่งหนึ่ง จึงอธิษฐานต่อบรรดาเทพยดานางฟ้าให้ช่วยนางและบุตรด้วย เทวดานางฟ้าจึงได้พากันมาแสดงตนให้นางได้เห็นตามคำอธิษฐาน และอำนวยพรให้ พอถึงฤกษ์ดี นางก็สำรอกบุตรออกมาได้อย่างง่ายดาย บุตรของนางสุพรรณมัจฉาเป็นชายผิวขาวผ่องกายเหมือนหนุมานไม่ผิดเพี้ยนแม้แต่น้อย แถมมีหางเป็นปลา และพอเกิดก็ดูเติบใหญ่ราวอายุได้ 16 ปี (น่าจะนับว่าเป็นโชคดี ที่โอรสของนางดูเป็นแค่ครึ่งปลาครึ่งลิงเท่านั้น หากมีลักษณะครึ่งยักษ์ของทศกัณฐ์ผู้เป็นตาปนเข้าไปด้วย คงยิ่งดูนุงนัง กลายเป็นสัตว์ประหลาดที่หาคำบรรยายไม่ค่อยถูกเลยที่เดียว) เหล่าเทวดานางฟ้าที่มาช่วยจึงตั้งชื่อให้ว่ามัจฉานุ แล้วพากันกลับวิมานไป นางสุพรรณมัจฉายิ่งชื่นชมบุตรของนางได้เพียงครู่เท่านั้น ก็ต้องจากไปเช่นกัน นางจึงบอกเล่าชาติกำเนิดแก่มัจฉานุว่า บิดาของมัจฉานุ ชื่อ หนุมาน เป็นทหารของพระราม จุดสังเกตคือ หนุมานมีมาลัยกุณฑล ขนแก้ว เขี้ยวเพชร เหาะเหินได้ และสามารถหาวเป็นดาวเป็นเดือน แล้วนางสุพรรณมัจฉาก็ลาจากลูกชายแหวกว่ายไปในทะเลใหญ่ เพื่อหาทางหลบซ่อนจากพระอาญาของทศกัณฐ์พระบิดาของนางเอง ทิ้งมัจฉานุไว้ตามลำพังบนเนินทรายนั้น บังเอิญไมยราพเจ้าเมืองบาดาลประพาสป่าผ่านมาพบเข้า รู้สึกถูกชะตายิ่ง จึงรับมัจฉานุไว้เป็นบุตรบุญธรรม ขุดสระใหญ่ให้เป็นด่านหน้าเมืองบาดาล
ส่วนทศกัณฐ์ที่เสียท่าในการศึกหลายหนได้ของความช่วยเหลือจากไมยราพที่เป็นพันธมิตรของลงกา ไมยราพเห็นแก่ความเป็นมิตร รับอาสาช่วยเหลือทศกัณฐ์ ด้วยการสะกดทัพวานรลักตัวพระรามไปกักไว้ในบาดาล พิเภกและพระลักษณ์ที่กำลังเศร้าโศกต่อการหายสาบสูญไปของพระเชษฐาว่าให้ส่งหนุมานตามไปช่วย หนุมานจึงติดตามมาถึงด่านหน้าเมืองบาดาลที่มัจฉานุอาศัยอยู่ สองพ่อลูกจึงเกิดสู้รบกันขึ้น แต่ต่างไม่สามารถเอาชนะกันและกันได้ ทำให้หนุมานสงสัยยิ่ง จึงสอบถามถึงเผ่าพงศ์ของมัจฉานุ ซึ่งมัจฉานุเองก็อดแคลงใจไม่ได้เหมือนกัน ที่คู่ต่อสู้ทำไมจึงมีหน้าตารูปกายคล้ายกับตนนัก จึงตอบตามสัตย์ว่า เป็นบุตรของพระนางสุพรรณมัจฉากับหนุมาน หนุมานรู้ก็ยินดียิ่ง แนะนำตัวเองต่อมัจฉานุว่าเป็นบิดา แต่มัจฉานุต้องการข้อยืนยัน หนุมานจึงเหาะขึ้นไปบนอากาศ และหาวเป็นดาวเป็นเดือนให้ดู มัจฉานุค่อยเชื่อว่าคือบิดา พอสองพ่อลูกได้รู้จักกันแล้ว สภาพการเป็นศัตรูก็เสื่อมสลายไป มัจฉานุยอมให้หนุมานผ่านด่านของตนลงสู่บาดาลไปช่วยเหลือพระรามโดยสะดวก เมื่อฝ่ายวานรช่วยเหลือพระรามออกไปจากบาดาลได้ และไมยราพพลาดท่าตายในที่รบและหนุมานก็มอบเมืองบาดาลให้ไวยวิก พระญาติผู้หนึ่งของไมยราพครอบครองต่อไป โดยมีมัจฉานุเป็นพระมหาอุปราช ก่อนจะกลับกองทัพวานรไปทำศึกสงครามต่อ ไวยวิกกับมัจฉานุที่ครอบครองเมืองบาดาลอย่างเป็นสุขมาตลอด วันหนึ่งเกิดอยากเข้าเฝ้าพระราม จึงจัดทัพเดินทางไปกรุงอยุธยา บังเอิญพบกับทัพท้าวชมพูเข้าที่หน้าเมืองอยุธยา สองทัพเกิดเข้าใจผิด จึงสู้รบกันเองซะอุตลุดวุ่นวาย พระรามได้ยินเสียงสู้รบกันดังสนั่น จึงให้หนุมานออกไปดู หนุมานเห็นเป็นพวกกันเองทั้งสองฝ่าย ก็เลยรีบเข้าห้าม และพาทั้งหมดเข้าเฝ้าพระราม พระรามเห็นว่าหางปลาของมัจฉานุดูเกะกะร่ารำราญ หนุมานก็เลยฉวยโอกาสนี้ทูลของพระรามช่วยตัดหางมัจฉานุออก พระรามไม่ขัด ทรงใช้พระขรรค์โมลีตัดหางปลาออกไปจากกายมัจฉานุด้วยความฉับไวแม่นยำทำให้มัจฉานุไม่รู้สึกเจ็บปวดแต่อย่างไร ยังความยินดีแก่มัจฉานุยิ่งที่ไม่ต้องมีสภาพครึ่งปลาอีกต่อไป แต่โชคดีของมัจฉานุยังไม่หมดแค่นั้น พระรามยังทรงโปรดแต่งตั้งให้เป็นพระยาหนุราชไปครองเมืองมลิวัน มัจฉานุบุตรของนางสุพรรณมัจฉาเองนั้น ยังคงเวียนว่ายท่องเที่ยวไปในทะเลกว้างตามความเคยชิน นี่คือ ชีวิตรูปแบบหนึ่งของนางในวรรณคดีผู้มีเชื้อสายครึ่งยักษ์ครึ่งปลา และมีความงดงามคมซึ้งไม่ด้อยกว่าเทพธิดาบนสรวงสวรรค์... สุพรรณมัจฉา

นิลพัท

นิลพัท เป็นบุตรพระกาฬ พระกาฬมอบให้พระอิศวร พระอิศวรมอบให้เป็นบุตรบุญธรรมของท้าวมหาชมพู เจ้าเมืองชมพู มีฤทธิ์มากเทียบเท่ากับหนุมาน ไม่ถูกกับหนุมาน จึงกลั่นแกล้งหนุมานตอนพระรามสั่งให้กองทัพลิงไปขนหินถมถนนไปสู่กรุงลงกา หนุมานกับนิลพัทเลยต่อสู้กัน พระรามจึงมาสงบศึกและตัดสิน เมื่อทราบความว่านิลพัทเป็นฝ่ายหาเรื่องก่อน พระรามกริ้วนิลพัทมาก เนรเทศให้ไปอยู่เมืองขีดขินสั่งให้คอยส่งเสบียงอาหารให้แก่กองทัพ เมื่อเสร็จศึกกรุงลงกาพระรามแต่งตั้งให้เป็นอุปราชกรุงชมพูมีนามใหม่ว่า พระยาอภัยพัทวงค์
นิลพัทมีลักษณะเหมือนหนุมานทุกอย่าง เพียงแต่มีกายสีดำ มีกุณฑร ขนเพชร เขี้ยวแก้ว สี่หน้า แปดกร และหาวเป็นดาวเป็นเดือนเหมือนหนุมาน
ในทางวิชาการละคร อาจกล่าวได้ว่า ตัวละคร เช่น นิลพัทเป็นด้านที่อยู่ตรงข้ามกับหนุมานก็ว่าได้

จตุรพักตร์

(พรหม) มีนามเดิมว่า ท่าวมหาอัชดาหรือธาดา เป็นผู้ครองกรุงลงกาองค์แรก มเหสีคือนางมลิกา โอรสเป็นยักษ์สี่มือ ชื่อ ลัสเตียน อาวุธคือตรีศูล คทา และฉัตรแก้ว มีบุษบกแก้วเป็นอากาศยานวิเศษ ท้าวจตุรพักตร์นี้เป็นน้องท้าวมาลีวัคคพรหมหรือท้าวมาลีวราช ดังนั้นในรามเกียรติ์ทศกัณฐ์จีงถือว่าตนเป็นวงศ์พรหม